วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2552

::วิจัย เรื่องความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมของนักเรียนในยุคอินเตอร์เน็ต: กรณีศึกษา นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา::

ชื่อเรื่อง ความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมของนักเรียนในยุคอินเตอร์เน็ต: กรณีศึกษา นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา
ผู้ศึกษาค้นคว้า นางสาวศศิฌามนตร์ แสงสวัสดิ์

หน่วยงาน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี

ปีการศึกษา 2551
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาระดับความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของ นักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา ในยุคอินเตอร์เน็ต 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อความคิดเห็นของผู้ปกครองในการใช้อินเตอร์เน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา
ในการศึกษา ได้เก็บรวบรวมข้อมูล จากผู้ปกครองของนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โรงเรียนบุญวัฒนา จ.นครราชสีมา จำนวน 204 คน เลือกตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูลและนำข้อมูลที่ได้มาประมวลผล โดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows Version 10.0 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. สถิติพรรณนา (Descriptive Statistics) ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่ามัชฌิมเลขคณิต (Arithmetic Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) 2. สถิติวิเคราะห์ (Inferential Statistics) เพื่อทดสอบสมมติฐาน ได้แก่ t-test และ F-test
กลุ่มตัวอย่างมีเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน กลุ่มใหญ่ มีอายุระหว่าง 41-45 ปี ร้อยละ 30.88 มีระดับการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลาย ร้อยละ 25.98 สถานภาพสมรส ร้อยละ 70.10 50.00 อาชีพค้าขาย ร้อยละ 52.94 รายได้ส่วนตัวต่อเดือน 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 50.00 จำนวนเด็กในปกครอง 2 คน ร้อยละ 47.55 มิได้ใช้เวลาว่างในการทำกิจกรรมร่วมกันทุกสัปดาห์ ร้อยละ 60.78 ใช้วิธีเลี้ยงดูบุตรแบบมีเหตุมีผล ร้อยละ 42.65
การศึกษา พบว่า ผู้ปกครองเห็นความสำคัญของการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับสูง มีความรู้ความเข้าใจและให้ การสนับสนุนให้เด็กในปกครองใช้อินเตอร์เน็ตอยู่ในระดับปานกลาง
ความคิดเห็นของผู้ปกครองต่อพฤติกรรมของนักเรียนในการใช้อินเตอร์เน็ตโดยรวมเป็นไปในทางที่ดีกว่าเดิม 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านพฤติกรรมในการเรียน 2) ด้านพฤติกรรมต่อเพื่อนและ 3) ด้านพฤติกรรมแสดงออก ส่วนอีก 2 ด้าน ไม่พบการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ 1) พฤติกรรมต่อครองครัว 2) พฤติกรรมต่อสังคม
ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กัความความคิดเห็นดังกล่าวได้แก่ เพศ ระดับการศึกษา รายได้ส่วนตัว ส่วนปัจจัยที่ไม่มีความสัมพันธ์ ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ จำนวนเด็กในปกครอง การใช้เวลาว่างของครอบครัว ความสัมพันธ์ของครอบครัว
ข้อเสนอแนะในการศึกษา
1. ผู้ปกครองควรหาเวลาเรียนรู้และศึกษาอินเตอร์เน็ต โดยการซื้อหนังสือมาอ่านหรือมาศึกษา และทดลองใช้อินเตอร์เน็ตเพื่อที่จะสามารถตอบคำถามให้กับบุตรหลานของท่านได้
2. สร้างความรู้ความเข้าใจ และให้เวลากับเด็กในปกครอง ผู้ปกครองมีความรู้เรื่องอินเตอร์เน็ตสามารถให้คำปรึกษากับบุตรหลานได้ ชี้แนะในการใช้อินเตอร์เน็ต ให้หลีกเลี่ยงเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม และผู้ปกครองควรอยู่ใกล้กับเด็กในขณะที่ใช้อินเตอร์เน็ต
3. ผู้ปกครองควรควบคุมการใช้อินเตอร์เน็ตของเด็กในปกครอง โดยการกำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าควรจะใช้อินเตอร์วันละกี่ชั่วโมง และให้หาข้อมูลที่เป็นประโยชน์เท่านั้น
4. ไม่ควรวางคอมพิวเตอร์ไว้ในห้องส่วนตัวของเด็ก ซึ่งอาจจะทำให้เด็กใช้เวลาอยู่กับการเล่นอินเตอร์เน็ตมากจนเกินไป หรือการเข้าไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนและปัญหาอื่นๆ ก็จะตามมา
5. ทางโรงเรียนควรจัดให้นักเรียนใช้อินเตอร์เน็ตในโรงเรียนอย่างพอเพียง
6. ครูควรจัดให้มีหลักสูตรการแนะนำการใช้อินเตอร์เน็ต
7. ครูควรมีประสบการณ์ ตามทันเด็กแนะนำเด็กให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรดี ไม่ดี ถูกผิด ควร ไม่ควร ในการใช้อินเตอร์เน็ต